วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2556

แนะนำดอยอ่างขาง

""ลมหนาวมาแล้ว ... ถึงเวลาออกไปโลดแล่นสัมผัสกับอากาศเย็น ๆ กันซะหน่อย ^^ และวันนี้ ผมจะพานักเดินทางไปท้าทายความหนาวเย็นไกลถึง "เชียงใหม่" ณ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง หรือที่หลายคนเรียกว่า ดอยอ่างขาง กันครับ ใครเตรียมตัวเตรียมใจพร้อมแล้ว ก็ตามเราเข้าไปเลยครับโผ้มมม.."


        
  สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง ตั้งอยู่ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ มีความสูงจากระดับน้ำทะ 1,400 เมตร และมียอดดอยสูงถึง 1,928 เมตร พื้นที่รับผิดชอบประมาณ 26.52 ตารางกิโลเมตร หรือ 16,577 ไร่ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2512 ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า "ให้เขาช่วยตัวเอง" เปลี่ยนพื้นที่จากไร่ฝิ่นมาเป็นแปลงเกษตรเมืองหนาว ที่สร้างรายได้ดีกว่าเก่าก่อน




ประวัติ...ดอยอ่างขาง

          โดยเรื่องกำเนิดของ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง แห่งนี้ เป็นเกร็ดประวัติเล่ากันต่อมาว่า ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จทางเฮลิคอปเตอร์ผ่านยอดดอยแห่งนี้ และทอดพระเนตรลงมาเห็นหลังคาบ้านคนอยู่กันเป็นหมู่บ้าน จึงมีพระดำรัสสั่งให้เครื่องลงจอด เมื่อเสด็จพระราชดำเนินลงมาทอดพระเนตรเห็นทุ่งดอกฝิ่น และหมู่บ้านตรงนั้นก็คือหมู่บ้านของชาวเขาเผ่ามูเซอ ซึ่งในสมัยนั้นยังไว้แกละถักเปียยาว แต่งกายสีดำ สะพายดาบ ทำการปลูกฝิ่นแต่ยังยากจน ทั้งยังทำลายทรัพยากรป่าไม้ ต้นน้ำลำธารที่เป็นแหล่งสำคัญต่อระบบนิเวศน์ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนอื่น ๆ ของประเทศได้ พระองค์มีพระราชดำรัสที่จะแปลงทุ่งฝิ่นให้เป็นแปลงเกษตร

          จึงทรงมีพระราชดำริว่าพื้นที่นี้มีภูมิอากาศที่หนาวเย็น มีการปลูกฝิ่นมาก ไม่มีป่าไม้อยู่เลย และสภาพพื้นที่ไม่ลาดชันนัก ประกอบกับพระองค์ทรงทราบว่า ชาวเขาได้เงินจากฝิ่นเท่ากับที่ได้จากการปลูกท้อพื้นเมือง และทรงทราบว่าที่สถานีทดลองไม้ผลเมืองหนาว ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทดลองวิธีติดตา ต่อกิ่งกับท้อฝรั่ง จึงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1,500 บาท เพื่อซื้อที่ดินและไร่ในบริเวณ ดอยอ่างขาง ส่วนหนึ่ง 

          จากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ตั้งโครงการหลวงขึ้นเป็นโครงการส่วนพระองค์ เมื่อ พ. ศ. 2512 โดยทรงแต่งตั้งให้ หม่อมเจ้า ภีศเดช รัชนี เป็นผู้สนองพระบรมราชโองการในตำแหน่งมูลนิธิโครงการหลวง ใช้เป็นสถานีวิจัยและทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้ผล ผัก ไม้ดอกเมืองหนาว เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรชาวเขา ในการนำพืช เหล่านี้มาเพาะปลูกเป็นอาชีพ ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานนามว่า "สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง"

          "อ่างขางในอดีตวันนั้นสวยมากด้วยดอกฝิ่นและภูมิประเทศ เราได้เห็นต้นท้อ แอ๊ปเปิ้ลป่า และทราบว่าอากาศหนาวเราได้คุยกับผู้ที่ไปตั้งร้านขายของ ซื้อฝิ่นเขาขึ้นมาอีกทางหนึ่ง ห่างจากค่ายทหารจีนโดยที่ชาวเขาส่วนมากอพยพไปที่อื่น อ่างขางจึงมีที่เหลือให้หญ้าคาขึ้นอยู่มาก ด้วยเหตุนี้จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งสถานีเกษตรหลวงอ่างขางขึ้นเมื่อ 30 ปี มานี้ สถานีเกษตรหลวงอ่างขางได้ทำวิจัยได้" ม.จ. ภีศเดช รัชนี กล่าว




          โดยคำว่า "อ่างขาง" ภาษาเหนือหมายถึง อ่างรูปสี่เหลี่ยมตามลักษณะของดอยอ่างขาง ซึ่งเป็นดอยที่มีรูปร่างของหุบเขา ยาวล้อม รอบประมาณ 5 กิโลเมตร กว้าง 3 กิโลเมตร ตรงกลางของอ่างขางเดิมเป็นภูเขาสูง เช่นเดียวกับบริเวณโดยรอบ แต่เนื่องจากเป็นภูเขาหินปูน เมื่อถูกน้ำฝนชะก็จะค่อย ๆ ละลายเป็นโพรงแล้วยุบตัวลงกลายเป็นแอ่ง มีพื้นที่ราบ ความกว้างไม่เกิน 200 เมตร ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง มีโครงการวิจัยผลไม้ ไม้ดอกเมืองหนาว งานสาธิตพืชไร่ พืชน้ำมัน โดยมุ่งที่จะหาผลิตผลที่มีคุณค่าพอที่จะทดแทนการปลูกฝิ่นของชาวเขา และทำการส่งเสริมพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมแก่ชาวเขาในบริเวณใกล้เคียง ปัจจุบัน ดอยอ่างขาง ได้เปลี่ยนสภาพจากภูเขา ซึ่งถูกตัดไม้ทำลายป่ามาเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์ไม้ผลเมืองหนาวกว่า 12 ชนิด ได้แก่ ท้อ บ๊วย พลัม สตรอเบอร์รี่ สาลี่ ราสเบอรี่ พลับ กีวี ลูกไหน เป็นต้น ผักเมืองหนาวกว่า 60 ชนิด เช่น แครอท ผักสลัดต่างๆ ฯลฯ และไม้ดอกเมืองหนาวมากกว่า 20 ชนิด เช่น คาร์เนชั่น กุหลาบ แอสเตอร์ เบญจมาศ ฯลฯ จำหน่ายผลิตผลตามฤดูกาลที่ปลูก ในโครงการให้แก่นักท่องเที่ยวตามฤดูกาล

          สำหรับบน ดอยอ่างขาง มีชาวไทยภูเขาเผ่าจีนฮ่อ ไทยใหญ่ มูเซอดำ และปะหล่อง อาศัยอยู่โดยรอบกว่า 600 ครัวเรือนใน 6 หมู่บ้าน ส่วนสภาพอากาศจะเย็นสบายตลอดทั้งปี อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 16.9 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม อากาศเย็นจนน้ำค้างกลายเป็นน้ำค้างแข็ง นักท่องเที่ยวจึงควรเตรียมเครื่องกันหนาวมาให้พร้อม เช่น หมวก ถุงมือ ถุงเท้า เสื้อกันหนาว 
 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น